การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเบาหวาน เมื่อไปเที่ยว
เป็นที่รู้กันดีว่าผู้ป่วยเบาหวานนั้นมีความเปราะบางของโรคเป็นอย่างมาก จำเป็นต้องดูแลสุขภาพร่างกายให้ดีตลอดเวลา รวมไปถึงควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้มีความปกติสมดุลอยู่เสมอ นอกจากนี้ในบางกรณีของผู้ป่วยเบาหวาน ยังต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ อาทิเช่น ฉีดยาหรือกินยา เป็นจำนวนมากกว่า 1 ครั้งใน 1 วัน ส่งผลให้การดำเนินกิจวัตรประจำวันของผู้ที่ป่วยที่เป็นโรคนี้ อุดมไปด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ มากมาย ที่ต้องปฏิบัติและใส่ใจมากกว่าคนปกติทั่วไปอยู่ตลอดเวลา
อย่างไรก็ตามสำหรับการดำเนินชีวิตให้มีความสุข ผู้ป่วยโรคเบาหวานไม่ควรนำข้อจำกัดต่างๆมาเป็นปัญหา ทั้งนี้หากมีการเตรียมตัวที่ดีผู้ป่วยในโรคนี้ ก็สามารถออกไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติเฉกเช่นผู้คนทั่วไป สำหรับการเดินทางออกไปท่องเที่ยวนั้น ผู้ป่วยในโรคนี้มักมีความกังวลไปต่างๆนานา จนเลือกที่จะอยู่บ้านไม่เดินทางออกไปไหนมากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับทางการแพทย์ในปัจจุบัน แพทย์ที่รักษาดูแลโรคนี้ ต่างก็ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า หากมีการเตรียมตัวและวางแผนที่ดี ผู้ป่วยโรคเบาหวานก็สามารถเดินทางออกไปท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆได้ตามปกติ เหมือนคนอื่น ๆ เช่นเดียวกัน
สำหรับการเดินทางของผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานนั้น แพทย์ได้แนะนำให้มีแนวทางการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเบาหวานเมื่อเดินทางไปท่องเที่ยว ดังต่อไปนี้
ในด้านการเตรียมตัวผู้ป่วยเบาหวาน เมื่อไปเที่ยว
– วางแผนรายละเอียดก่อนการเดินทาง เพื่อให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด
– ขอใบรับรองแพทย์ทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ระบุถึงรายละเอียดของโรคที่เป็น และยารักษาที่ใช้ รวมถึงประวัติการแพ้ยาที่มี
– หากต้องฉีดสารอินซูลินตามเวลาที่กำหนด ให้พกบัตรประจำตัวผู้ป่วยฉบับภาษาอังกฤษที่ระบุรายละเอียดต่างๆเอาไว้ชัดเจน เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะสามารถช่วยได้ทันเวลาและถูกต้องตามโรคที่เป็น
– ในกรณีเดินทางด้วยเครื่องบินควรแจ้งสายการบินถึงโรคที่เป็นอยู่ล่วงหน้า เพื่อให้สายการบินได้เตรียมการดูแลที่เหมาะสมในระหว่างการเดินทาง ทั้งนี้หากต้องฉีดอินซูลินระหว่างเดินทาง หรือต้องนำอุปกรณ์ทางการรักษาขึ้นเครื่อง ควรแจ้งสายการบินล่วงหน้าเช่นกัน
– เข้ารับการตรวจหาโรคแทรกซ้อนก่อนเดินทาง เพื่อให้แน่ใจ ว่าไม่มีสภาวะโรคอื่นๆ ที่เป็นอันตรายต่อการเดินทาง
– หากมีวัคซีน ที่ต้องเข้ารับการฉีดต้องฉีดล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือนก่อนออกเดินทาง
– เตรียมเบอร์โทรศัพท์สำหรับการติดต่อในกรณีฉุกเฉิน
– ขอคำแนะนำจากแพทย์ถึงแนวทางปฏิบัติ การดูแลตัวเอง และข้อมูลอื่นๆที่ต้องการทราบ
– ในกรณีเดินทางไปต่างประเทศ ศึกษารายละเอียดทางด้านการเปลี่ยนแปลงของเวลาเพื่อหาช่วงที่เหมาะสมสำหรับการกินยาหรือฉีดยา
ด้านสัมภาระ ผู้ป่วยเบาหวาน เมื่อไปเที่ยว
การนำสัมภาระติดตัวเมื่อต้องเดินทางไปท่องเที่ยวนั้น ควรแยกกระเป๋าระหว่างสัมภาระปกติทั่วไปและอุปกรณ์ต่างๆ ในการรักษาโรค เพื่อให้ง่ายต่อการหาของ และพกติดตัว อย่างไรก็ตามอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการรักษานั้น ควรพกอีกชุดหนึ่งสำรองใส่ไว้ในกระเป๋าสัมภาระทั่วไปด้วย
ในส่วนของสัมภาระอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในการรักษาโรคนั้น ควรดูให้ครบตามนี้
– ยาที่ต้องกินตามเวลา, เข็มและอินซูลินที่มีฉลากอยู่ข้างขวดอย่างชัดเจน
– อุปกรณ์วัดระดับน้ำตาล ที่ต้องใช้
– บัตรประจำตัวผู้ป่วย
– ผลไม้ หรือลูกอมสำหรับในกรณีค่าน้ำตาลลดเฉียบพลัน
– กระเป๋าเก็บความเย็น (หากนำไปได้)
– อุปกรณ์ทางการรักษาอื่นๆ ที่ต้องพกไปตามความจำเป็น
ทางด้านการปฏิบัติ ผู้ป่วยเบาหวาน เมื่อไปเที่ยว
– รับประทานอาหารโดยการคำนึงถึง ระดับน้ำตาลที่สมดุลอยู่เสมอ
– หากต้องฉีดอินซูลินระหว่างเดินทางบนเครื่องบิน ควรได้อาหารก่อนแล้วจึงฉีด หรือจะนำอาหารมาเองก็ได้ เพื่อความสะดวก
– ตรวจระดับน้ำตาลเมื่อถึงจุดหมายปลายทาง และควรทำบ่อยๆ ระหว่างการเดินทางท่องเที่ยว ในกรณีที่ไปหลายวัน
– ตรวจสอบแผนกิจกรรมและไทม์โซนเพื่อจัดเวลาการสำหรับฉีดอินซูลินที่เหมาะสม
– หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำจากแหล่งน้ำที่ไม่น่าไว้ใจ เช่น น้ำประปา ในพื้นที่
– ตรวจสอบอาหาร และวัตถุดิบ หรือส่วนประกอบอื่นๆ ก่อนรับประทานเสมอหากไม่คุ้นเคย
– ดูแลเท้าไม่ให้เกิดแผลอยู่เสมอ ในระหว่างทำกิจกรรมการท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตามหากเป็นไปได้ควรทำแผนกิจกรรมต่างๆ และแนวทางปฏิบัติคร่าวๆ ปรึกษาแพทย์ก่อนเดินทางพยากรณ์คำแนะนำเพิ่มเติม ทั้งนี้แพทย์อาจจะช่วยเสริมสิ่งต่างๆ ที่ควรทำ และอาจช่วยลดบางอย่างที่ไม่จำเป็น ในระหว่างการเดินทางออกไปได้
ถึงแม้การเดินทางไปท่องเที่ยวของผู้ป่วยเบาหวานนั้น จะมีข้อจำกัดต่างๆมากกว่าคนปกติ แต่หากการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเบาหวานเมื่อเดินทางไปท่องเที่ยว สามารถทำได้ตามที่แพทย์ให้คำแนะนำไว้นั้น การเดินทางออกไปท่องเที่ยวไกล ๆ หรือเป็นระยะเวลานาน ๆ ก็จะไม่ใช่อุปสรรคของผู้ป่วยเบาหวานอีกต่อไป