รักษาโรคด้วยสารสกัดจากกัญชา
ตามตำรายาสมุนไพรไทย “กัญชา” หรือ “กันชา” ถูกบันทึกไว้ว่าเป็นยาที่ใช้รักษาโรคตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งมีหลักฐานในตำราพระโอสถพระนารายณ์ ตำราเวชศาสตร์วัณณนา ตำราแพทย์แผนไทยโบราณ เป็นต้น และในปัจจุบันได้มีงานวิจัยสรรพคุณทางยาของกัญชาทำให้กัญชากลายเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก
กัญชากับการรักษาโรคในประวัติศาสตร์
ประเทศจีน สมัยก่อนคริสต์ศักราชประมาณ 5,000 ปีที่แล้ว กัญชาถูกบันทึกไว้ว่าจักรพรรดิราชวงศ์ Shen Nung ทรงใช้กัญชาเป็นยารักษาโรคมากกว่า 100 ชนิด ต่อมาปีค.ศ 207 แพทย์ชื่อดังของประเทศจีนได้ให้ผู้ป่วยดื่มไวน์ที่ผสมกับกัญชาเพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายและยังใช้เป็นยานอนหลับให้ผู้ป่วยอีกด้วย
ประเทศอินเดีย ย้อนไปเมื่อ 4,000 ปีที่แล้ว ได้มีการบันทึกไว้ว่ามีการใช้กัญชาเพื่อการถวายพระศิวะ ชาวอินเดียมีความเชื่อว่า “กัญชา” เป็นยาที่พระศิวะประธานให้ และเมื่อ 2,000 ปีก่อนคริสต์ศักราชก็มีการบันทึกไว้อีกว่า มีการดื่มเครื่องดื่มของเทพเจ้าที่ทำจากกัญชา ที่เรียกว่า “โซมา” หรือ “โสม” โดยมีความเชื่อว่าดื่มแล้วจะเป็นอัมตะ
ประเทศอิหร่าน มีการเขียนตำราไว้ว่ากัญชาใช้รักษาโรคเก๊าท์ รักษาการปวดบวม ลดการอักเสบของแผลติดเชื้อ และช่วยลดอาการปวดศรีษะ
ประเทศไทย มีการบันทึกไว้ว่าสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้มีการใช้กัญชาเป็นยานอนหลับนอกจากนี้ยังบันทึกในตำรายาว่ากัญชาเป็นส่วนผสมของยาสมุนไพรอื่นอีกมากมาย
ประเทศอังกฤษ หลังจากที่อังกฤษยึดครองอินเดียได้สำเร็จปลายศตวรรษที่ 18 คุณหมอ Willian O’Shaughnessy พบว่าชาวอินเดียมีการใช้กัญชารักษาโรคและได้ผลดี จึงได้นำกัญชากลับไปรักรักษาโรคลมชักและโรคปวดข้อ ทำให้เขามีชื่อเสียงโด่งดังและกัญชาก็ถูกใช้กันแพร่หลายในประเทศตะวันตก นอกจากนี้นายแพทย์เจ รัสเซล เรโนลส์ ประจำราชสำนักอังกฤษ ได้บันทึกไว้ในปี ค.ศ 1890 ว่า กัญชาแก้อาการปวดได้ทุกชนิด เช่น ปวดไมเกรน ปวดรอบเดือน ปวดข้อ เป็นต้น และยังบันทึกไว้อีกว่าสามารถแก้โรคหอบได้อีกด้วย
กัญชากับการรักษาโรคในแพทย์แผนปัจจุบัน
- รักษาอาการคลื่นไส้จากการรักษาด้วยเคมีบำบัด
ด้วยการใช้ยา Nadilone ที่มีส่วนผสมสารสกัดของกัญชาและได้รับการรับรองแล้วแต่ก็ต้องใช้ในกรณีที่รักษาด้วยยาอื่น ๆ แล้วไม่ได้ผล และต้องระวังเรื่องผลข้างเคียงจากการใช้ยาเยอะ
- อาการปวดเรื้อรัง
ทางการแพทย์ยังไม่แนะนำให้รักษาอาการปวดด้วยกัญชาเพราะพบว่ามีสรรพคุณอยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
- อาการเกร็งของกล้ามเนื้อ
ยังไม่แนะนำให้ใช้สารสกัดของกัญชาเพราะพบว่าผลที่ได้ไม่คุ้มค่า
- รักษาอาการชักรุนแรง
ใช้รักษาในเด็กที่เป็นโรคลมชักรุนแรง แต่ยังไม่แนะนำใช้ในผู้ใหญ่
ประเทศไทยยังไม่แนะนำให้ใช้สารสกัดจากกัญชาในการรักษาโรคมากนัก อาจเป็นเพราะว่าการศึกษา การวิจัยที่มียังให้ข้อมูลได้ไม่ชัดเจนมากพอและยังคงต้องศึกษากันต่อไปเรื่อย ๆ