อันตรายใกล้ตัวของผู้สูงอายุ กับโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
เมื่อสังคมไทยเริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นั่นหมายความว่า ปัจจุบันแทบจะทุกครอบครัวจะต้องมีผู้ที่ก้าวเข้าสู่วัยนี้อย่างน้อย 1 หรือ 2 คน เมื่อวัยสูงขึ้นมักจะสวนทางกันกับภูมิคุ้มกันทางสุขภาพที่ดูจะลดน้อยถอยลง เป็นเหตุให้ผู้ที่เข้าสู่วัยนี้ เจ็บป่วยง่าย และ มีโรคประจำตัวมากมาย สิ่งที่สมาชิกในครอบครัว หรือลูกหลานพอจะทำได้ คือการดูแล เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันภาวะของโรคต่างๆที่อาจจะเข้ามาทำร้าย อย่างไรก็ดี ถึงจะเฝ้าดูแลระวังอย่างไร แต่ผลพวงจากการชีวิตมามากกว่า 60 ปีของคนวัยนี้นั้น ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญมากที่สุดสำหรับโรคต่างๆที่จะเกิดขึ้นกับร่างกายเมื่อแก่ตัวลง
นอกเหนือไปจากการดูแลอย่างใกล้ชิดของผู้สูงอายุแล้ว สิ่งที่สมาชิกหรือลูกหลานควรเรียนรู้ คืออาการเบื้องต้นของโรคต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุในครอบครัวตัวเอง ทั้งนี้เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น ก็จะสามารถช่วยดูแลเบื้องต้นจนประคับประคองอาการจนถึงมือหมอได้อย่างปลอดภัย และสามารถรักษาได้ทันท่วงที
หากจะกล่าวถึงโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุแล้วนั้น โรคที่จะมองข้ามไปไม่ได้เลยคือโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ โดยเฉพาะ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งโรคนี้ถือเป็นอีกหนึ่งโรคที่มักแสดงอาการทรุดลงอย่างกะทันหันและหากไม่ได้รับการรักษาที่ทันเวลาก็อาจจะมีผลถึงชีวิตได้โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดนี้ เบื้องต้นจะมีกระบวนการคล้ายคลึงกับโรคเส้นเลือดสมองตีบตีน นั่นคือการที่เกิดสภาวะอุดตันของเส้นเลือดแดง ทำให้การส่งเลือดไปหล่อเลี้ยงหัวใจมีปริมาณที่น้อยลงเรื่อยๆและไม่เพียงพอ หรือในบางกรณีที่หนักไปกว่านั้นคือเกิดการอุดตันโดยสมบูรณ์ ไม่สามารถส่งเลือดยังหัวใจได้เลย ก็อาจจะเกิดสภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และอาจะทำให้หัวใจวายเฉียบพลันจนถึงแก่ชีวิตได้
ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดโรค
– จากสถิติจะพบว่า โรคนี้มักเกิดกับเพศชายมากกว่า ดังนั้นเพศจึงถือเป็นหนึ่งในปัจจัยได้
– เมื่อเข้าสู่ช่วงอายุที่มากขึ้น ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ก็เพิ่มขึ้น อายุจึงกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ
– จากประวัติผู้ป่วยโรคนี้หลายคนพบว่า กรรมพันธุ์ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยความเสี่ยงของโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ
– นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆทางด้านร่างกายเช่น อ้วน, ไขมันในเลือดสูง, สภาวะความเครียด ตลอดจนการสูบบุหรี่ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคเช่นกัน
สำรวจอาการ
สิ่งที่ผู้สูงอายุหรือสมาชิกในครอบครัวควรรับรู้เมื่อเกิดความผิดปกติจะมีการส่งสัญญาณของการเจ็บป่วยของโรค สามารถสังเกตได้ดังนี้
– จุกแน่นหน้าอก อาการนี้หากเริ่มเป็นบ่อยๆ ผู้สูงอายุควรเริ่มไปพบแพทย์
– เจ็บหน้าอก ฉับพลัน อีกหนึ่งอาการที่จะเป็นขึ้นมาโดยไม่มีสาเหตุอื่นๆมาก่อน อยู่ดีๆ ก็เจ็บ เจ็บครั้งละหลายนาทีก่อนจะหายไป ถือเป็นอีกหนึ่งอาการที่บ่งบอกสภาวะของโรคอย่างชัดเจน
– ใจสั่น เหนื่อยหอบ เพลียง่าย เมื่อเกิดภาวะเครียด หรืออกแรง จะใจสั่นเหนื่อยหอบมากกว่าปกติที่เคยเป็น ถือเป็นอีกหนึ่งสัญญานของโรค
– ปวดคอลามไปถึงขากรรไกร อาจจะพบได้บ้าง หากมีอาการนี้บ่อยๆควรเริ่มปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาต่อไป
-หายใจลำบากขณะนอนราบ หากมีอาการบ่อยๆ ถือเป็นอีกหนึ่งสภาวะบ่งบอกโรคนี้
– แน่นหน้าอก หมดสติ หัวใจหยุดเต้น หากสมาชิกในครอบครัวพบควรพาส่งโรงพยาบาลทันที
วิธีการรักษา
โดยทั่วไปแล้วมีวิธีการรักษาการแพทย์ได้อยู่ 3 ทาง ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการที่พบ และการประเมินสั่งจ่ายยาจากแพทย์เฉพาะทาง
- การใช้ยา ปัจจุบันมียามากมายสำหรับสภาวะโรคนี้ หากตรวจพบมีอาการเบื้องต้นที่ยังไม่ร้ายแรง แพทย์อาจจะสั่งยาให้ทาน ไปก่อน ทั้งนี้มีทั้งยาขยายหลอดเลือด, ยาลดการบีบตัวของหัวใจ และยาสลายลิ่มเลือด ซึ่งผู้ป่วยควรทานตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- การขยายหลอดเลือด หากอาการที่พบแพทย์ประเมินแล้วเริ่มมีการที่หนักมากขึ้นก็จำเป็นต้องเลือกวิธีการรักษาในข้อนี้ เนื่องจากได้ผลดีมากกว่าการทานยาเพียงอย่างเดียว โดยการขยายหลอดเลือดนี้สามารถทำได้ทั้งแบบ บอลลูนและการใช้ลวดขยาย
- หากอาการที่ตรวจพบเริ่มเข้าสู่ระดับความรุนแรงที่มากขึ้นหรือมีสภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่ไม่สามารถทำในข้อที่ 2. ได้แพทย์จำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนเส้นทางเพิ่มการไหลเวียนของหลอดเลือดไปสู่หัวใจ วิธีนี้จะถูกประเมินจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเริ่มลงมือรักษา ทั้งนี้หากสามารถมาถึงมือหมอได้ทันเวลา ก็มีเปอร์เซ็นค่อนสูงที่จะสามารถรักษาแล้วหายเป็นปกติได้ อย่างไรก็ตาม หลังหายแล้วควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และควรมาพบแพทย์ตามเวลานัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อติดตามอาการ
อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุสามารถหาแนวทางการปฏิบัติตัว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสภาวะของโรคนี้ได้ ด้วยการเลือกรับประทานอาหารมีไขมันต่ำและมีประโยชน์ต่อร่างกายรสไม่จัด, ไม่สูบบุหรี่, ไม่เข้าสู่สภาวะเครียดหนักๆ, ออกกำลังการตามความเหมาะสมที่กำลังจะไหว และไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ถึงแม้โรคนี้จะเป็นโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุก็จริง แต่หากสามารถปฏิบัติตามข้อแนะนำเหล่านี้ได้ ก็จะเป็นการช่วยป้องกันลดเปอร์เซ็นกานเกิดโรค ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเท่านั้นแต่ยังครอบคลุมไปถึงโรคอื่นๆอีกด้วย